รู้หรือไม่ ? “ศาลเจ้า” และ “วัด” ในประเทศญี่ปุ่นแตกต่างกันอย่างไร

08 Jul 2020
2202

จุดประสงค์ในการมาท่องเที่ยวญี่ปุ่นของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะเป็น “การเที่ยวชมธรรมชาติ” “การช้อปปิ้ง” “อาหาร” และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเสห่น์มากมายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อมาเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด และเป็นสถานที่ที่แสดงถึงความเป็นญี่ปุ่นมากก็คงหนีไม่พ้น “วัด” และ “ศาลเจ้า” ที่ไม่ว่าไปที่ไหนๆ ก็มีวัดและศาลเจ้าให้ได้เที่ยวชมอยู่ทุกที่ เป็นสถานที่ที่สามารถกราบไหว้ สักการะบูชา หรือซื้อเครื่องรางของขลังต่างๆ พร้อมถ่ายรูปตามจุดต่างๆ ภายบริเวณสถานที่ แต่การจะแยกถึงความแตกต่าง หรือการปฏิบัติตัวก็คงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักท่องเที่ยว

ดังนั้นวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ “วัด” และ “ศาลเจ้า” ของญี่ปุ่นให้มากขึ้น ทั้งความแตกต่าง และวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ไปดูกันเลย

“วัด” หรือ “ศาลเจ้า” มีข้อสังเกตุความแตกต่างแรกเลยก็คือ “ศาลเจ้า” เกิดขึ้นจากลัทธิชินโต ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีไว้สำหรับบูชาเทพเจ้าของประเทศญี่ปุ่น โดยศาลเจ้าที่ขึ้นชื่อในประเทศญี่ปุ่นก็มีทั้ง “อิเสะจิงกุ”「ISE JINGU(伊勢神宮)」 “เมจิจิงกุ”「MEIJI JINGU(明治神宮)」ที่ลงท้ายด้วย “จิงกุ”「JINGU(神宮)」หรือศาลเจ้า “อิซุโมะ ไทชะ”「IZUMO TAISHA出雲大社」 “ฟูชิมิอินาริ ไทชะ”「FUSHIMI INARI TAISHA(伏見稲荷大社)」ที่ลงท้ายด้วยคำว่า “ไทชะ”「TAISHA(大社)」ซึ่งศาลเจ้าที่ลงท้ายด้วยคำนี้จะเป็นศาลเจ้าที่มีความเคร่งครัด และมีแบบแผนมากที่สุดในบรรดาศาลเจ้าที่มีอยู่มากมายในประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 8 หมื่นแห่ง

“ชินโต” มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ซึ่งจะสักการะ “เทพเจ้า” ไม่ว่าจะเป็นบุคคล หรือธรรมชาติป่าเขา สิ่งรอบตัวล้วนมีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ ซึ่งจะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตา ไม่มีคำสอนและเกิดขึ้นเองจากการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนในสมัยนั้น

ในทางกลับกันในส่วนของ “วัด” ก็คือสถานที่ทางพระพุทธศาสนาเหมือนกับประเทศไทย ซึ่งวัดในประเทศญี่ปุ่นนั้นมีมากกว่า 7 หมื่น 5 พันกว่าแห่ง ถึงแม้ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาเหมือนกัน แต่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีหลักธรรมว่า「ผู้ที่เชื่อทุกคนจะได้รับการช่วยเหลือให้รอดพ้น」ของ「มหายาน」ส่วนในประเทศไทยจะเป็น「เชื่อในพระพุทธศาสนา การสะสมคุณธรรมจะช่วยให้รอดพ้น」ของ「เถรวาท」นั่นเอง

แน่นอนว่านอกจากความแตกต่างทางหลักธรรมคำสอนแล้ว ผู้ที่อยู่ประจำวัดอย่าง “พระสงฆ์” ก็มีความแตกต่างเช่นกัน ในประเทศไทยนั้นหากเป็นผู้ชายไม่ว่าใครๆ ก็สามารถเป็นพระสงฆ์ได้ แต่ที่ประเทศญี่ปุ่น การจะเป็นพระสงฆ์ได้นั้นบุคคลนั้นๆ จะต้องเข้ารับการปฎิบัติธรรมที่เรียกว่า “ชุเกียว” เป็นเวลาหลายเดือน และในบางนิกายจะต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเฉพาะของการเป็นพระสงฆ์อีกด้วย “พระสงฆ์” ในประเทศญี่ปุ่นนั้นจะสามาถแต่งงาน และในบางนิกายสามารถไว้ผมยาว และสามารถใช้ชีวิตตามปกติเหมือนคนทั่วไปได้

ถึงจะเป็นพระสงฆ์เหมือนกันแต่เมื่ออยู่ห่างกันมากถึง 5000 กิโลเมตรก็เกิดความแตกต่างกันทั้งลักษณะ และการใช้ชีวิตขนาดนี้เลยทีเดียว

ข้อสังเกตุในส่วนของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในบริเวณ “วัด” และ “ศาลเจ้า” ที่เห็นได้ชัดก็คือ “ทางเข้า” ซึ่งทางเข้า “ศาลเจ้า” มีชื่อเรียกว่า “โทริอิ” ที่เป็นเอกลักษณ์เพราะ มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบสีแดง หินอ่อน หรือไม้ โดยปกติแล้ว “เสาโทริอิ” นี้จะมีอยู่เฉพาะที่บริเวณทางเข้าศาลเจ้าเพียงอันเดียวเท่านั้น แต่ก็มี “ศาลเจ้าฟูชิมิอินาริ” ชื่อดังที่มีเสาโทริอิเรียงกันอยู่มากมายภายในศาลเจ้า ทั้งสวยงาม และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับความนิยมไม่น้อยเลยทีเดียว เป็นอีกหนึ่งศาลเจ้าในประเทศญี่ปุ่นที่ไม่ควรพลาด!

เมื่อเข้ามาในบริเวณ “ศาลเจ้า” แล้วสิ่งที่จำเป็นจะต้องทำก่อนการกราบไหว้สักการะนั่นก็คือ “การชำระล้างร่างกาย” ที่เรียกว่า “โจซุยะ หรือ เทมิซึยะ” (ภาษาญี่ปุ่น:手水舎) เพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อน โดยมีวิธีการชำระล้างร่างกายดังนี้

-ก่อนอื่นจะต้อง ถือกระบวยด้วยมือขวา และตักน้ำให้เต็ม จากนั้นน้ำมาล้างมือซ้าย

-จากนั้น เปลี่ยนมือที่ถือกระบวยเป็นข้างซ้าย และล้างมือขวา

-ขั้นตอนต่อไปก็ เปลี่ยนมาถือกระบวยมือขวาอีกรอบ เทน้ำใส่มือซ้ายพอประมาณ และทำการบ้วนปาก *ในขั้นตอนนี้ห้ามนำกระบวยมาโดนปากโดยตรง

-ล้างมือซ้ายอีกรอบ

-ในขั้นตอนสุดท้าย ตั้งกระบวยขึ้น โดยหันหน้ากระบวยเข้าตัว เพื่อให้น้ำไหลลงไปล้างที่จับกระบวย วางกระบวยไว้ที่เดิม เท่านี้ก็เรียบร้อย

ซึ่งในบางสถานที่จะมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างเช่น การลอยดอกไม้ตกแต่งสวยงาม(เกียวโต・ศาลเจ้ายานางิดานิ)หรือ ตกแต่งด้วยมังกรในแต่ละแห่ง นั่นเอง

ส่วนทาง “วัด” นั้นจะมี “กระถางธูป” ที่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารหลักของวัด สามารถจุดธูปที่เตรียมไว้บริเวณข้างๆ กระถางธูป หรือสำนักงานวัด เพื่อจุดธูปได้และมีความเชื่อว่า หากปัดควันใส่ส่วนต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ จะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากสิ่งๆ นั้นได้ ดังนั้นคนส่วนใหญ่จึงนิยม “ปัดเข้าตัวเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง” หรือ “ปัดเข้ากระเป๋าสตางค์เพื่อให้เงินทองไหลมาเทมา” นั่นเอง คนทั่วไปสามารถซื้อ ธูป ราคาประมาณ 50-100 เยน ขึ้นอยู่กับแต่ละวัด มาจุดได้ตามปกติ ซึ่งตามลำดับขั้นตอนแล้วจะต้องทำการจุดธูปก่อน แล้วจึงไปกราบไหว้สักการะอาคารหลักวัด เหมือนที่จะต้องชำระล้างร่างกายก่อนกราบไหว้ศาลเจ้านั่นเอง

ในการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละที่ก็จะมีความแตกต่างกัน โดยการสักการะ “ศาลเจ้า” นั้นมีวิธีดังนี้

เดินมาที่บริเวณศาลเจ้าหลัก(ที่มีระฆังและกล่องทำบุญอยู่หน้าอาคาร) โค้งคำนับ 1 ครั้ง จากนั้นโยนเหรียญใส่กล่องทำบุญ(ตามจิตศรัทธา โดยปกติประมาณ 5-50 เยน)ก่อนลั่นกระดิ่งที่ห้อยลงมา จากนั้นให้ทำการ

โค้งคำนับ 2:โค้งคำนับไปทางศาลเจ้า 2 ครั้ง

ปรบมือ 2:ปรบมือ 2 ครั้ง

โค้งคำนับ 1:อธิษฐานในใจ และโค้งคำนับอีก 1 รอบ

ซึ่งการโค้งคำนับ 2 ปรบมือ 2 โค้งคำนับ 1 จะเป็นวิธีการของศาลเจ้าเท่านั้น

ส่วนการสักการะที่ “วัด” ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องปรบมือ ให้พนมมือธิษฐาน และโค้งคำนับเพียง 1 ครั้งนั่นเอง

ในครั้งนี้เราได้พูดถึง ความแตกต่างของ “ศาลเจ้า” และ “วัด” พร้อมวิธีการกราบไหว้สักการะกันไปแล้ว ถึงแม้ว่า “ศาลเจ้า” และ “วัด” จะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 150 ปีก่อนขอบเขตของความแตกต่างยังคงมีความคลุมเคลือ ในบางสถานที่เก่าแก่อาจมีเสาโทริอิของศาลเจ้าอยู่ในบริเวณวัด หรืออาจมีที่ชำระล้างร่างกายของศาลเจ้าอยู่ในบริเวณวัดต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการได้พบสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของการท่องเที่ยวสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ในประเทศญี่ปุ่น หากคุณได้มาท่องเที่ยว “วัด” หรือ “ศาลเจ้า” ในประเทศญี่ปุ่นก็ลองสังเกตุสิ่งต่างๆ รอบตัวจากเนื้อหาในตอนนี้กันดูได้เลย แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า♪