วันปีใหม่ของญี่ปุ่น

01 Jul 2020
1317

สวัสดีปีใหม่

ปีนี้ก็เป็นอีกหนึ่งปีที่ ICHIGO CHAN ตั้งใจจะแนะนำข้อมูลเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นด้านการท่องเที่ยว, วัฒนธรรม, เทรนด์, อาหาร ฯลฯ ที่ดีที่สุดให้ทุกท่าน ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยค่ะ

เนื่องจากวันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ จึงอยากจะขอแนะนำเกี่ยวกับ “วันขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่น”

คำทักทายสำหรับวันขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่นคือ

「AKEMASHITE OMEDETOU GOZAIMASU」(อะเกมะชิเตะ โอเมเดโต โกไซมัส)

เป็นคำทักทายที่ทุกคนจะใช้เมื่อเจอกันเป็นครั้งแรกในช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคมในปีนั้นๆ

สำหรับที่ประเทศไทยแล้ว การกล่าวสวัสดีปีใหม่ตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนธันวาคมถือเป็นเรื่องปกติ แต่ของญี่ปุ่นจะพูดต่อเมื่อเข้าเดือนมกราคมไปแล้วเท่านั้น

การขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่นจะเริ่มขึ้นพร้อมกับ  『Joya no kane』  (โจยะโนะคาเนะ)

เป็นธรรมเนียมที่จะทำการตีระฆังของวัดทั้งหมด 108 ครั้งตั้งแต่กลางดึกของคืนวันที่ 31 ธันวาคมไปจนถึงช่วงเปลี่ยนเป็นวันที่ 1 มกราคม

ตัวเลข 108 นั้น โดยทั่วไปกล่าวกันว่าเป็นจำนวนของกิเลสตัณหาของมนุษย์

การคลายด้วย Joya no kane ที่มีชื่อเสียงอยู่ที่ 『CHIONIN』 จังหวัดเกียวโต ในช่วงที่กำลังจะขึ้นปีใหม่ของทุกปี เสียงของระฆังนี้จะก้องกังวานไปทั่วญี่ปุ่นผ่านทางการแพร่ภาพกระจายเสียง

ภาพถ่ายของ Hatsuhi no de (ฮะสึฮิโนะเดะ : พระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกของปีใหม่)

หลังข้ามปีด้วย Joya no kane และงีบหลับอีกสักหน่อยก็จะเป็น “Hatsuhi no de”

เป็นการไหว้พระอาทิตย์ที่ขึ้นเป็นครั้งของปี เพื่ออธิษฐานให้โชคดีและปลอดภัยไปตลอดปี

เพื่อชมพระอาทิตย์ขึ้นครั้งแรกนี้ มีทั้งคนที่ปีนเขาเพื่อขึ้นไปชมจากภูเขา และคนที่ชมจากบนท้องฟ้าก็มีเช่นกัน ที่โตเกียว, โอซาก้า, นาโกย่า ฯลฯ มีบริการ “เที่ยวบิน Hatsuhi no de” ด้วยนะ

จุดชม Hatsuhi no de ที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ได้แก่ 『ภูเขา Takao』ที่โตเกียว, 『ภูเขา Kisokoma』ที่ฮาโกเนะ, ส่วนของคันไซจะเป็นที่『ภูเขา Ikoma』ของนารา เป็นต้น

หลังไหว้ Hatsuhi no de แล้วก็เป็น “Hatsumoude (ฮะสึโมเดะ : การไปวัดครั้งแรกของปีใหม่)”

ทุกคนจะมุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าเพื่อขอพรให้มี “ความโชคดี”, “ความแข็งแรงปลอดภัยในครอบครัว”, “การมีสุขภาพดีไร้โรคภัยไข้เจ็บ” ฯลฯ ตลอดหนึ่งปี ในช่วงเวลานี้ศาลเจ้าที่ส่วนมากจะเงียบเหงาก็จะคับคั่งไปด้วยผู้คนเป็นจำนวนมาก รอบ ๆ ศาลเจ้าที่มีชื่อเสียงจะมีรถติดราวกับที่กรุงเทพฯ เลยทีเดียว

เพื่อเป็นการแสดงความยินดีปีใหม่ ที่ศาลเจ้าจะมีการแจก “เหล้าสาเกศักดิ์สิทธิ์” ให้บรรยากาศสดใส การรับ “เครื่องราง” “ของขลัง” เพื่อช่วยปกป้องบ้านเรือนไปตลอดปี, จับสลาก Mikuji คำทำนายดวงชะตาตลอดปีถือเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน “เครื่องราง” “ของขลัง” ที่ช่วยปกป้องบ้านเรือนเมื่อปีที่แล้วจะถูกส่งคืนสู่ศาลเจ้าในช่วง Hatsumoude เช่นกัน

สถานที่ที่มีชื่อเสียงสำหรับ Hatsumoude คือ 『ศาลเจ้า Meiji』ที่โตเกียวหรือ『ศาลเจ้า Fushimi-Inari』ที่เกียวโต

แค่ช่วงขึ้นปีใหม่ก็มีผู้มาสักการะมาเยี่ยมเยือนถึง 3 ล้านคนเลยทีเดียว

Osechi (โอะเซจิ : อาหารในเทศกาลปีใหม่) – Otoshidama (โอะโทชิดามะ : เงินแต๊ะเอียหรือของขวัญปีใหม่)

สิ่งที่ทุกคนรอคอยหลัง Hatsumoude คือ “Osechi”

ในกล่องอาหารที่ซ้อนกันหลายชั้นจะมีอาหารอันเป็นมงคลจัดวางไว้อย่างสวยงาม Osechi เป็นอาหารที่จะขาดไม่ได้เลยสำหรับการขึ้นปีใหม่

วัตถุดิบของ Osechi จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ปลาที่ใช้ใน Osechi ของคันโตโดยทั่วไปจะเป็น “ปลาแซลมอน” แต่สำหรับคันไซโดยมากจะใช้ “ปลาบุริ(ปลาหางเหลืองญี่ปุ่น)”

ช่วงขึ้นปีใหม่ ญาติพี่น้องที่ปกติไม่ค่อยได้พบเจอกันหรือเพื่อนฝูงจะมานั่งล้อมรอบ Osechi แล้วพูดคุยกันอย่างมีชีวิตชีวา เป็นการใช้เวลาในช่วงขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่น

และสิ่งที่เด็ก ๆ ทุกคนรอคอยเป็นอันดับหนึ่ง “Otoshidama”

ในช่วงปีใหม่ของที่ญี่ปุ่น จะมีธรรมเนียมที่คุณปู่คุณย่า, คุณตาคุณยายจะมอบเงินให้แก่เด็ก ๆ ตั้งแต่หลายพันเยนไปจนถึงหลายหมื่นเยน ICHIGO CHAN จะได้เท่าไหร่กันนะ….!?

ในอดีตเด็ก ๆ มักจะใช้ Otoshidama ที่ได้รับมาไปกับการเที่ยวเล่นหรือซื้อของที่อยากได้ แต่ในปัจจุบันเด็ก ๆ ที่นำไปเก็บออมก็มีมากขึ้น…. เพื่อนของ ICHIGO CHAN ดูเหมือนจะเอาไปซื้อ Bitcoin ด้วยนะ!!

ในครั้งนี้เราได้แนะนำเกี่ยวกับการขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่น อาจจะมีบางท่านที่คิดว่าดูยุ่งวุ่นวายจัง…. แต่เดี๋ยวนี้ก็มีคนที่นอนเล่นสบาย ๆ อยู่บ้าน หรือเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ เช่น ประเทศไทย ฯลฯ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

หรือทุกท่านจะลองมาสัมผัสประสบการณ์ขึ้นปีใหม่ที่ญี่ปุ่นดูก็อาจจะสนุกก็ได้นะ

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกท่านมีช่วงเวลาที่มีความสุขในช่วงขึ้นปีใหม่เช่นกัน