เรียนรู้พื้นฐาน ภาษาญี่ปุ่นในการท่องเที่ยว No.2

01 Jul 2020
1351

สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยตอนไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็คือเรื่องของภาษา

ทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นต่างก็ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกับภาษาอังกฤษสักเท่าไร

ในครั้งนี้เราจะขอนำเสนอคำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นบางคำที่คุณสามารถใช้ได้เวลาที่ต้องการจะสอบถามเส้นทาง, เวลาที่กำลังตามหาอะไรบางอย่าง หรือเวลาที่ประสบปัญหา

ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เราจะนำเสนอประโยคและวิธีการโต้ตอบเกี่ยวกับเรื่องห้องน้ำซึ่งเป็นปัญหาอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยว, เวลาทำของหายหรือเกิดอุบัติเหตุ จากนั้นเราจะนำเสนอ “ภาษาถิ่น” บางคำซึ่งจะช่วยลดระยะห่างของคุณกับคนญี่ปุ่นได้ในทันที

สิ่งที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ในระหว่างการท่องเที่ยวก็คือปัญหาเรื่องห้องน้ำ

ถ้าต้องมากังวลแต่เรื่องของห้องน้ำแล้ว ความสนุกของการท่องเที่ยวก็จะลดหายไปเกือบครึ่ง

ในเวลาแบบนั้น มาลองสอบถามถึงสถานที่ของห้องน้ำโดยไม่ต้องมาเขินอายกันเถอะ

เช่นเดียวกับคำว่าห้องน้ำในภาษาไทยซึ่งมีอยู่หลายคำไม่ว่าจะเป็น “ห้องน้ำ” “สุขา” “ห้องส้วม” คำว่าห้องน้ำในภาษาญี่ปุ่นก็มีอยู่หลายคำ เช่น “โทอิเระ” “โอเทอาไร” “เคโชชิตสึ” “เบนโจะ”

เมื่อจะสอบถามถึงสถานที่ของห้องน้ำ โดยทั่วไปจะใช้คำว่า “โอเทอาไร”

 “OTEARAI DOKODESUKA?”

เมื่อสอบถามไปแล้ว อีกฝ่ายก็จะบอกสถานที่ของห้องน้ำมาให้

จะว่าไปแล้ว ที่ประเทศไทย นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวแล้ว โดยปกตินักท่องเที่ยวก็จะใช้ห้องน้ำของปั๊มน้ำมัน, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรมกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ว่าที่ประเทศญี่ปุ่นจะไม่ค่อยใช้ห้องน้ำของปั๊มน้ำมันหรือโรงแรมสักเท่าไร

ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปก็จะเป็นห้องน้ำที่อยู่ภายในร้านสะดวกซื้อ, ห้องน้ำของระบบคมนาคม เช่น สถานีรถไฟหรือสนามบิน, ห้องน้ำของห้างสรรพสินค้าและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมไปถึงห้องน้ำของร้านอาหาร

สถานที่ที่สะดวกที่สุดในระหว่างการท่องเที่ยวก็คือห้องน้ำของสถานีรถไฟ

สำหรับห้องน้ำของ BTS และ MRT ถ้าไม่ไปขอกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็จะไม่สามารถใช้ได้ แต่ว่าห้องน้ำในสถานีรถไฟเกือบทั้งหมดของประเทศญี่ปุ่นสามารถใช้ได้อิสระ

ในระยะหลังมานี้ ห้องน้ำหลายแห่งได้รับการปรับปรุงใหม่ทำให้สะอาดมาก อีกทั้งยังมีจำนวนมากทำให้สามารถเข้าใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ

นอกจากห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิงแล้ว ยังมีห้องน้ำอเนกประสงค์ซึ่งถูกจัดเตรียมไว้หลายแห่ง โดยนอกเหนือจากรถวีลแชร์แล้ว ยังสามารถเข้าใช้ในเวลาที่ต้องการลับสายตาจากผู้คนได้ด้วย เช่น เวลาเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือเวลาให้นมลูก

โดยส่วนใหญ่แล้วที่ประเทศญี่ปุ่น (ยกเว้นบางแห่งหรือร้านเล็ก ๆ กลางใจเมือง) ภายในร้านสะดวกซื้อจะมีห้องน้ำจัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งสามารถเข้าใช้ได้ฟรีและยังสะอาดมากด้วย หลังจากที่เข้าใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว จะไปอุดหนุนซื้อของในร้านสักชิ้นสองชิ้นก็ถือเป็นเรื่องที่ดีนะ

ภายในร้านสะดวกซื้อบางแห่งนั้นจะมีกระดาษเขียนแปะเอาไว้ว่า “กรุณาบอกพนักงานของร้านก่อนที่จะเข้าใช้ห้องน้ำ” แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเขียนเป็นภาษาญี่ปุ่นเท่านั้นทำให้ไม่ทราบ

เอาเป็นว่าถ้าหากจะเข้าใช้ห้องน้ำภายในร้านสะดวกซื้อ ก็ไปบอกกับพนักงานของร้านก่อนที่จะเข้าใช้ดีกว่านะ ในตอนนั้น…

 “TOIRE WO TSUKATTE IIDESUKA??”

ซึ่งถ้าพูดไปแล้วพนักงานก็จะให้เราเข้าใช้ห้องน้ำแน่นอน

หากคุณทำของหล่นหายหรือประสบกับปัญหาในระหว่างที่กำลังท่องเที่ยว คุณจะต้องติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีป้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเรียกว่า “KOBAN” อยู่ในเมืองไว้สำหรับช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาต่าง ๆ เพื่อนของ ICHIGO CHAN ก็เคยเจอปัญหาใหญ่เพราะว่าทำหนังสือเดินทางหล่นหาย และพอติดต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจของ KOBAN เขาก็ช่วยค้นหาให้จนเจอในเวลาเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง!! ถ้าคนญี่ปุ่นพบเจอของตกอยู่ที่พื้น ปกติแล้วก็จะส่งไปให้ KOBAN และเพราะว่าของที่ถูกส่งไปให้ KOBAN นั้นจะสามารถตรวจสอบได้จากป้อมตำรวจและสถานีตำรวจอื่น ๆ ทั้งหมดผ่านทางระบบออนไลน์ ฉะนั้นถึงแม้ว่าคุณจะทำของสำคัญหล่นหาย มันก็ยังเร็วเกินไปที่จะยอมแพ้นะ ถ้าคุณกำลังตามหาป้อมตำรวจให้สอบถามว่า

 “KOUBAN WA DOKODESUKA??”

และอีกฝ่ายจะช่วยให้คุณไปถึงที่ป้อมตำรวจอย่างแน่นอน เมื่อไปถึงที่ KOBAN แล้วก็ให้แจ้งไปว่า

 “(_ของที่ทำหาย_)GA NAKUNARI MASHITA”

ให้พูดไปตามนี้เลย

มีหลายครั้งที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดคุยเป็นภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่ก็จะประสานงานกับล่าม (มีของภาษาไทยด้วยนะ!!) เพื่อให้มาช่วยกันแก้ไขปัญหา

และตรงนี้ก็คือหนึ่งในวิธีที่เยี่ยมที่สุดซึ่งจะช่วยลดระยะห่างของคุณกับคนญี่ปุ่นได้

ที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีเพียงภาษาญี่ปุ่นของโตเกียว (ภาษากลาง) เท่านั้น แต่ยังมีสำเนียงอื่น ๆ อีกมากมายซึ่งจะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ด้วย เช่น สำเนียงของโอซาก้า (โอซาก้าเบ็ง), สำเนียงของเกียวโต (เกียวโตเบ็ง), สำเนียงของฟุกุโอกะ (ฮากาตะเบ็ง)

คนญี่ปุ่นจำนวนมากรักในสิ่งที่มาจากบ้านเกิดของตัวเอง

โดยเฉพาะผู้คนจากแถบคันไซ เช่น โอซาก้า, เกียวโต และโกเบ (ซึ่งมักจะออกใน ICHIGO JAPAN อยู่บ่อย ๆ) แม้ว่าจะต้องย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ที่กรุงโตเกียวนานหลายปีก็ตาม แต่ก็ยังรักในสำเนียงคันไซถึงขนาดที่ว่ายังคงใช้สำเนียงของแถบคันไซต่อไปเหมือนเป็นเรื่องปกติ

สำเนียงคันไซมีความเร็วที่พอดีและดูมีอารมณ์ขัน ไม่ใช่เพียงแค่จากผู้คนในแถบคันไซเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ยอมรับจากคนญี่ปุ่นทั่วประเทศว่าเป็น “สำเนียงที่มีความเป็นมิตรมากที่สุด” ซึ่งก็มีคนญี่ปุ่นบางคนที่ไม่เคยอาศัยอยู่ในแถบคันไซมาก่อนแต่ก็พูดสำเนียงคันไซ (เหมือนกับคนที่ไม่ใช่คนเชียงใหม่แต่ก็พูดลงท้ายว่า เจ้า)

ถ้าหากคุณได้ไปเที่ยวที่แถบคันไซ ให้ลองพูดกับพนักงานในร้าน, เจ้าหน้าที่ของโรงแรม หรือคนที่คุณกำลังติดต่อด้วยเป็นสำเนียงคันไซดูสิ แล้วคุณจะสนิทกับพวกเขาขึ้นมาในทันทีเลย!?

 “คำศัพท์พื้นฐาน 3 คำที่อยากให้พูดเป็นสำเนียงคันไซ”

1. “MAKETE” ลดราคาให้หน่อย

เป็นประโยคที่คนไทยใช้กันอยู่บ่อย ๆ นะ ผู้คนในแถบคันไซโดยเฉพาะโอซาก้าจะเอาจริงเอาจังเรื่องของราคามาก ถือเป็นหนึ่งในคำศัพท์ที่ใช้กันบ่อยมาก ๆ

2. “OOKINI” ขอบคุณ

ชื่อร้าน “OOKINI SHOKUDOU” ที่มีในประเทศไทยก็มาจากสำเนียงคันไซนี่แหละ

ถึงแม้ว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้จะไม่ค่อยใช้คำนี้กันเท่าไรแล้ว แต่สำหรับคนที่ทำมาค้าขายแล้วนี่ถือเป็นคำศัพท์มาตรฐานเลย เพราะว่าเป็นคำศัพท์ที่คนฟังแล้วจะรู้สึกดีใจ มาลองใช้พูดกันดูนะ

3. “MECCHA” มาก ๆ

โดยเฉพาะเวลาที่จะใช้สื่อความหมายว่า “อร่อยมาก ๆ”

 “MECCHA OISHII”

ถ้าไปพบเจอของอร่อยในร้านอาหารก็ลองเอาไปใช้กันดูนะ

พนักงานที่ร้านจะแบบว่า “MECCHA” ดีใจไปเลยล่ะ

ไว้จะมานำเสนอคอร์สภาษาญี่ปุ่นที่สามารถใช้ในการท่องเที่ยวได้อีกครั้งในโอกาสถัดไป

แล้วไว้มาเจอกันอีกนะ!!