ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน!
UP DATE 24.เม.ย.2562
ในการมาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นประเทศแห่งรถไฟที่มีการคมนาคมขนส่งโดยใช้ “รถไฟ” เป็นหลัก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีเส้นทางรถไฟอยู่มากมายหลายสาย ซึ่งปัญหาหนึ่งที่นักท่องเที่ยวมักจะพบเจออยู่บ่อยครั้งก็คงหนีไม่พ้น “การขึ้นรถไฟ” ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟที่มีอยู่มากมาย หรือขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องทำในการขึ้นรถไฟที่แสนจะงง เพราะฉะนั้นในครั้งนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปขึ้นรถไฟแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียนที่ประเทศญี่ปุ่น โดยแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งในตอนแรกนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปดู “ชนิดของรถไฟ” และ “การซื้อตรวจตั๋วขึ้นรถไฟ” กัน ไปดูกันเลย
ชนิดของรถไฟ
รถไฟในประเทศญี่ปุ่นนั้นก็มีอยู่มากมายหลากหลายชนิด โดยชื่อของรถไฟนอกจากการแบ่งเป็นเส้นทางต่างๆ แล้ว ในแต่ละเส้นทางนั้นๆ ก็จะถูกแยกชนิดรถไฟไปอีกตามจำนวนการหยุดจอดของสถานีต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะใช้รถไฟที่มีลักษณะแบบเดียวกัน แต่สามารถแยกชนิดได้โดยการสังเกตุจากป้ายที่อยู่รอบๆ ขบวนรถไฟนั่นเอง โดยแบ่งชนิดหลักๆ ที่ใช้กันทั่วไปได้ดังนี้
รถไฟแบบด่วน Rapid : 快速 หรือ Express : 急行 (ชื่อเรียกขึ้นอยู่กับบริษัทรถไฟ)
เป็นรถไฟแบบด่วนที่จอดเฉพาะสถานีหลักๆ เท่านั้น (อย่างเช่น สถานีใหญ่ หรือสถานีที่คนนิยมใช้บริการ เป็นต้น) เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างสถานีที่อยู่ห่างกันมาก เนื่องจากรถไฟชนิดนี้จะจอดเฉพาะสถานีหลักๆ เท่านั้น ทำให้สามารถย่นระยะเวลาในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก แต่มีข้อควรระวังเล็กน้อย เนื่องจากรถไฟชนิดนี้อาจไม่จอดสถานีที่ท่านต้องการไปเพราะฉะนั้นควรตรวจสอบให้ดีว่ารถไฟชนิดนี้จะจอดที่สถานีที่คุณต้องการไปหรือไม่
Regional Rapid : 区間快速 หรือ Semi Express : 準急 (ชื่อเรียกขึ้นอยู่กับบริษัทรถไฟ)
เป็นรถไฟที่มีจุดหยุดจอดตามสถานีมากกว่ารถไฟแบบด่วน แต่ก็น้อยกว่ารถไฟแบบธรรมดาที่จอดทุกสถานี ซึ่งครึ่งเส้นทางอาจจะจอดทุกสถานี และข้ามไปจอดสถานีหลักๆ ในช่วงครึ่งหลัง เป็นต้น
รถไฟแบบธรรมดา (Local : 普通)
รถไฟแบบธรรมดาเป็นรถไฟที่ “จอดทุกสถานี” ไม่ว่าจะเป็นสถานีขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กในเส้นทางนั้นๆ เหมาะสำหรับการเดินทางระหว่างสถานีใกล้เคียงในระยะสั้น หรือต้องการเดินทางไปยังสถานีรถไฟเล็กๆ ข้อควระวังสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางสถานีใหญ่ที่อยู่ห่างกันมาก หากนั่งรถไฟนี้อาจใช้เวลาในการเดินทางนานกว่าปกติเกือบเท่าตัวหรือมากกว่าเลยทีเดียว
ซึ่งนอกจากนี้หากเปรียบเทียบคร่าวๆ ไล่จากรถไฟที่ใช้เวลาเดินทางน้อย ไปจนถึงใช้เวลาเดินทางมากก็จะได้ดังนี้
เร็วที่สุด = รถไฟแบบด่วน Rapid : 快速 หรือ Express : 急行 (ชื่อเรียกขึ้นอยู่กับบริษัทรถไฟ)
ปานกลาง = Regional Rapid : 区間快速 หรือ Semi Express : 準急 (ชื่อเรียกขึ้นอยู่กับบริษัทรถไฟ)
ช้าที่สุด = รถไฟแบบธรรมดา (Local : 普通)
การสังเกตุรายละเอียดรอบรถไฟ
วงกลมสีแดง : ชนิดของรถไฟ อย่างเช่น Local หรือ Rapid
วงกลมสีเหลือง : จุดหมายปลายทาง
วงกลมสีเขียว : หมายเลขโบกี้
*อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทรถไฟ
ความตรงต่อเวลา
รถไฟที่ญี่ปุ่นจะออก-ถึงที่หมายแบบตรงเวลาเป๊ะ วินาทีต่อวินาที นาทีต่อนาทีกันเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นในการไปขึ้นรถไฟควรจะเผื่อเวลาเอาไว้ในมากๆ โดยเฉพาะรถไฟที่มีรอบวิ่งน้อย และวิ่งอยู่บริเวณชนบทห่างไกลความเจริญ หากพลาดรถไฟรอบที่ต้องการขึ้นไป อาจจะต้องรอนานจนแผนท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ตามมาพังไปเลยก็เป็นได้
ซื้อตั๋วขึ้นรถไฟไม่ได้ยากอย่างที่คิด
การซื้อตั๋วขึ้นรถไฟนั้นสามารถซื้อได้ที่เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ หรือเคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ภายในสถานี โดยมีขั้นตอนดังนี้
สำหรับการซื้อตั๋วจากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัตินั้น ก่อนอื่นจะต้องเช็คราคาค่าเดินทางจากบอร์ดแผนผังเส้นทางรถไฟ ส่วนใหญ่มักจะอยู่บนเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ เช็คตัวเลขราคาได้ตามสายรถไฟ และสถานีรถไฟที่คุณต้องการไป
จากนั้นเมื่อเช็คแล้วก็ดำเนินการซื้อตั๋วได้จากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ซึ่งเครื่องจำหน่ายตั๋วโดยส่วนใหญ่แล้วจะรองรับภาษาต่างประเทศเป็นภาษาอังกฤษ และในบางแห่งบางที่อาจรองรับภาษาไทยอีกด้วย กดเลือกภาษาได้ตามความสะดวก จากนั้นก็กดปุ่มซื้อตั๋ว “Ticket” (ภาพซ้าย) จากนั้น ก็เลือกราคาค่าเดินทางที่คุณต้องการ (ภาพขวา) และใส่เงินเข้าไปในเครื่องเท่านี้ก็เรียบร้อย
ปุ่มต่างๆ บนเครื่องจำหน่ายตั๋ว
ปุ่มต่างๆ บนเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้
หมายเลข 1 คือ ปุ่มเรียกเจ้าหน้าที่ (Call)
หมายเลข 2 คือ ปุ่มยกเลิก (Cancel)
หมายเลข 3 คือ ช่องใส่บัตร IC CARD ,ตั๋วรถไฟ หรือบัตรเครดิต(ในกรณีที่สามารถชำระได้)
หมายเลข 4 คือ ช่องใส่ธนบัตร
หมายเลข 5 คือ ช่องรับตั๋ว Tickets
หมายเลข 6 คือ ช่องเงินทอน ทั้งธนบัตร และเหรียญ
หมายเลข 7 ช่องใส่เหรียญ
*ตำแหน่งของปุ่ม หรือรายละเอียดต่างๆ อาจแตกต่างกันไปตามบริษัทรถไฟนั้นๆ และแตกต่างตามพื้นที่
สำหรับปุ่มรูปคนเหล่านี้ก็คือปุ่มเลือกจำนวนบัตรที่ต้องการซื้อ อย่างเช่น ปุ่มรูปคนสีดำสามารถซื้อตั๋วผู้ใหญ่ได้สูงสุด 3 ใบ หรือ ซื้อผู้ใหญ่ 2 ใบ พร้อมเด็ก 2 ใบเป็นต้น
※ราคาตั๋วของเด็กจะเป็นราคาถึงสำหรับชั้นประถมศึกษา และตั้งแต่มัธยมต้นเป็นต้นไปจะเป็นราคาผู้ใหญ่
นอกจากนี้หากเพื่อนๆ ไม่สะดวกที่จะซื้อตั๋วรถไฟจากเครื่องจำหน่ายตั๋วก็สามารถซื้อตั๋วได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วที่มีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ได้เช่นกัน
หลายๆ คนที่เคยมาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น หรือกำลังมีแพลนจะมาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็คงเคยได้ยิน IC CARD กันมาบ้างแล้ว แต่ว่ามันคืออะไร แล้วใช้ยังไงกันล่ะ
IC-Card คือ บัตรเติมเงินสำหรับการคมนาคมขนส่งสาธารณะในประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ในการเดินทาง รถไฟ เป็นหลัก และสามารถใช้กับรถบัสประจำทาง คล้ายๆ Rabbit Card ,MRT card หรือ SmartPass ที่ประเทศไทย แต่ IC CARD ในประเทศญี่ปุ่นส่วนจะสามารถใช้ข้ามพื้นที่ หรือใช้ข้ามบริษัทรถไฟได้ภายในใบเดียว
ซึ่ง IC CARD ก็จะมีอยู่หลายชนิดขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัทและพื้นที่นั้นๆ หลักๆ มีดังนี้
“Suica” (JR HIGASHI NIHON)
“TOICA” (JR TOKAI)
“ICOCA” (JR NISHI NIHON)
“PASMO” (บริษัทรถไฟเอกชนของแถบคันโต KEIKYU・ODAKYU・SEIBU)
“PiTaPa” (บริษัทรถไฟเอกชนของแถบคันไซ HANKYU・HANSHIN) เป็นต้น
“IC CARD” ที่แสนจะสะดวกสบายนี้ หากเป็น IC CARD ก็สามารถใช้ขึ้นรถไฟหรือรถบัตรได้เกือบทั่วประเทศเลยทีเดียว นอกจากการใช้ขึ้นคมนาคมขนส่งสาธารณะต่างๆ แล้ว “IC CARD” ยังสามารถใช้ชำระเงินทางตู้กดน้ำอัตโนมัติ ร้านสะดวกซื้อ หรือตู้ล๊อคเกอร์ได้อีกด้วย เพียงแค่คุณมี IC-Card เพียงใบเดียวก็สามารถประหยัดเวลาในการซื้อตั๋วรถไฟในทุกๆ ครั้งที่ใช้บริการ ลดขั้นตอนที่ต้องหาราคาค่าเดินทางจากแผนผังรถไฟที่มีสถานที่รถไฟอยู่มากมาย หรือไม่ต้องเสียเวลาหาเหรียญเพื่อชำระค่าเดินบนรถบัสอีกต่อไป ซึ่งคุณสามารถเติมเงิน และถือบัตรนี้เอาได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหากใครได้มาท่องเที่ยวญี่ปุ่นบ่อยๆ มีไว้ซักใบการเดินทางในประเทศญี่ปุ่นของคุณจะง่ายขึ้นอย่างแน่นอน
วิธีซื้อก็ง่ายนิดเดียว คุณสามารถซื้อได้จากตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติเลย โดยก่อนอื่นจะต้องเปลี่ยนหน้าจอให้เป็น “ภาษาอังกฤษ” (หากมี) และกดที่「Purchase ICOCA」จากนั้นกดไปที่ ICOCA 2000 และใส่เงินเข้าไปในเครื่องเท่านี้ก็เรียบร้อย แน่นอนว่าคุณสามารถซื้อได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วรถไฟเช่นกัน เพราะฉะนั้นหากรู้สึกว่าซื้อจากเครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติดูยากเกินไป ก็สามารถซื้อที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วได้เลย ในบางกรณีอาจสามารถใช้บัตรเครดิตในการชำระเงินที่เคาน์เตอร์ได้อีกด้วย
*ยกตัวอย่างการซื้อบัตร ICOCA
ส่วน “วิธีเติมเงิน” ในบัตรก็ไม่ยากเช่นกัน คุณสามารถเปลี่ยนภาษาได้ตามต้องการเลยในขั้นตอนแรก โดยก่อนอื่นจะต้องใส่บัตร ICOCA เข้าไปในช่องใส่บัตร เมื่อใส่เข้าไปแล้วก็กดปุ่ม “Charge / Check history” จากนั้นก็กดจำนวนเงินที่ต้องการจะเติม และก็ใส่เงินเข้าไปในขั้นตอนสุดท้าย เท่านี้ก็เรียบร้อย แน่นอนว่าการเติมเงินนี้ก็สามารถทำได้ที่เคาน์เตอร์จำหน่ายตั๋วเช่นกัน แต่ถ้าเริ่มคุ้นชินแล้วเติมจากเครื่องอัตโนมัติจะสะดวกที่สุด
*ยกตัวอย่างการเติมเงินในบัตร ICOCA
เป็นยังไงกันบ้างสำหรับ “ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน!” ในครึ่งแรก โดยครั้งนี้เราได้พูดถึงข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโชยน์ในการขึ้นรถไฟในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นชนิดของรถไฟ ไปจนถึงขั้นตอนการซื้อตั๋วรถไฟ แต่ก็ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ในครั้งหน้าเราจะพาเพื่อนๆ ไปลองขึ้นรถไฟหลังจากซื้อตั๋วรถไฟแล้ว เพื่อไปดูกันเลยว่าเราจะต้องไปที่ไหนต่อหลังจากซื้อตั๋วแล้ว และต้องขึ้นรถไฟอย่างไร ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว “ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน!” ในตอนที่ 2 จะเป็นยังไงอย่าลืมติดตามกันด้วยนะคะ