เที่ยวญี่ปุ่นควรรู้! การรับมืออาการป่วยเบื้องต้นระหว่างการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น

09 Jul 2020
2933

ในระหว่างการท่องเที่ยวที่สนุกสนานนั้นในบางครั้งก็อาจเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่คาดฝัน โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “การเจ็บป่วย” ที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ ด้วยสภาพอากาศที่แตกต่าง โดยเฉพาะในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อยอย่างฤดูใบไม้ผลิที่อุณภูมิระหว่างช่วงเช้าและค่ำ กับช่วงกลางวันจะแตกต่างกันเป็นอย่างมาก จึงอาจมีกรณีฉุกเฉินที่เพื่อนๆ จะต้องใช้บริการร้านขายยา หรือบอกอาการกับเภสัชกรให้จัดยารักษาให้ตามอาการ ในบางครั้งแม้แต่ภาษาอังกฤษก็อาจไม่สามารถใช้ในการสื่อสารได้ โดยเฉพาะในพื้นที่รอบนอกที่อยู่ห่างไกลออกไปจากตัวเมือง ซึ่งหากอาการเจ็บป่วยที่เป็นอยู่ไม่หนักมากก็สามารถไปที่ร้านขายยาเพื่อปรึกษาเภสัชกร และซื้อยารักษาตามอาการได้เลย เนื่องจากการจะไปที่โรงพยาบาลสำหรับชาวต่างชาตินั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคนญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นในวันนี้เราจึงจะมาพูดถึง คำศัพท์หรือประโยค และความรู้ทั่วไปเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นระหว่างการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นมาฝากกัน

เมื่อเกิดอากาศเจ็บป่วยที่ไม่หนักมาก แต่ก็ต้องการยารักษาเพื่อบรรเทาอากาศเจ็บป่วยนั้นๆ ระหว่างการท่องเที่ยว สถานที่ที่ต้องนึกถึงเป็นอย่างแรกก็คือ “ร้านขายยา” หรือ “ยักเคียวคุ” (薬局) ก็คือ ร้าน Drugstore ที่นักท่องเที่ยวมักนิยมไปซื้อทั้งเครื่องสำอาง ขนม หรือของฝากต่างๆ กันนั่นเอง ซึ่งนอกจากสินค้าที่ได้กล่าวไปแล้วแน่นอนว่าเพื่อนๆ สามารถหาซื้อยาต่างๆ ได้ที่นี่เลย โดยสามารถสังเกตุป้ายร้านที่มีตัวอักษรญี่ปุ่น(ตัวอักษรคันจิ) คำว่า「薬」หรือ「くすり」ที่อ่านว่า “คุ-สุ-ริ”  แปลว่า ยา และ「薬局」ที่อ่านว่า “ยัก-เคียว-คุ” แปลว่า ร้านขายยา ไม่ว่าจะเป็น “ร้านมัทสึโมโตะคิโยะชิ(Matsumoto Kiyoshiマツモトキヨシ)” “ร้านสุกิยักเคียวคุ (Sugi Yakkyoku :スギ薬局)” “โคโคคาระไฟน์”(COCOKARA FINE : ココカラファイン) หรือ “ไดโคคุ”(Daikoku : ダイコク) ฯลฯ เหล่านี้จะเป็นร้านที่มียารักษาอาการป่วยเบื้องต้นทั้งหมด

หากเพื่อนๆ หาร้านขายยาไม่เจอจริงๆ ก็สามารถสอบถามได้จากคนที่เดินผ่านไปมาว่า

“YAKKYOKU WA DOKO DESUKA?(薬局はどこですか?)” อ่านว่า ยัก-เคียว-คุ-วะ-โด-โคะ-เดส-ก้ะ

แปลว่า ร้านขายยาอยู่ที่ไหน ครับ/ค่ะ

ซึ่งในร้านขายยาบางร้านจะมีเภสัชกรประจำอยู่สามารถเข้าไปปรึกษาตามอาการเจ็บป่วยได้เลย

ตัวอย่างคำศัทพ์อาการเจ็บป่วยต่างๆ

หวัด = 風邪(อ่านว่า คา-เซะ)

เจ็บคอ = のどがいたい (อ่านว่า โนะ-โดะ-กะ-อิ-ไต)

ไอ = せき (อ่านว่า เซ-กิ)

มีน้ำมูก = 鼻水(อ่านว่า ฮา-นะ-มิ-ซุ)

คัดจมูก = 鼻づまり(อ่านว่า ฮา-นะ-ซึ-มา-ริ)

มีไข้ = 熱がある(อ่านว่า เน-ซึ-กะ-อา-รุ)

มีเสมหะ = たん (อ่านว่า ทัน)

ปวดท้อง = お腹がいたい (อ่านว่า โอ-นา-กะ-ก้ะ-อิ-ไต)

ท้องเสีย = 下痢(อ่านว่า เก-ริ)

ปวดท้องกระเพาะ = 胃が痛い(อ่านว่า อิ-กะ-อิ-ไต)

กรดไหลย้อน = 胃酸逆流(อ่านว่า อิ-ซัน-เกียะ-คุ-ริว)

ปวดกร้ามเนื้อ = 筋肉痛(อ่านว่า คิน-นิ-คุ-ซือ)

พลาสเตอร์ยา = 絆創膏(อ่านว่า บัน-โซ-โก)

ยาแบบไม่ง่วง = 眠くならない薬(อ่านว่า เน-มุ-คุ-นา-ระ-ไน-คุ-ซุ-ริ)

ยาแบบง่วง = 眠くなる薬(อ่านว่า เน-มุ-คุ-นา-รุ-คุ-ซุ-ริ)

ยาสำหรับเด็ก =子供のくすり(อ่านว่า โค-โด-โมะ-โนะ-คุ-สุ-ริ)

ต่อไปเราจะไปดูตัวอย่างยารักษาอาการเบื้องต้นต่างๆ กันเลย

ยกตัวอย่างยาที่เกี่ยวกับอาการไข้หวัดที่เป็นยาสำหรับแก้อาการแบบตรงจุด เรียงตามอาการคือ

“สีม่วง”「のど(โน-โดะ)」แปลว่า คอ สำหรับอาการเจ็บคอหรือมีไข้

“สีน้ำเงิน”「はな(ฮา-นะ)」แปลว่า จมูก สำหรับอาการน้ำมูกไหลหรือคัดจมูก

“สีเหลือง”「せき(เซ-กิ)」แปลว่า ไอ สำหรับอาการไอหรือเจ็บคอ

วิธีทานคือ ทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 เม็ด (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 1490 เยน/18เม็ด

“Pabron ace Pro”「パブロンエースPro」สำหรับยาชนิดนี้จะเป็นยาสำหรับอาการไข้หวัดโดยรวมที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ไอ มีเสมหะ จาม น้ำมูกไหล และคัดจมูก

วิธีรับประทานคือ ทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด (อายุ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 2,138 เยน/36 เม็ด (มีให้เลือกหลากหลายปริมาณ หลากหลายราคา)

“Shin Ruru A Gold DX”「新ルルAゴールドDX」เป็นยาที่มีสรรพคุณคล้ายกับยาเมื่อก่อนหน้านี้ โดยเป็นยาสำหรับอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอ มีเสมหะ เจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ จาม ปวดตามข้อ หรือปวดกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากไข้หวัด

วิธีการรับประทาน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด ทานหลังอาหารภายใน 30 นาที  (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 2,037/90เม็ด (มีให้เลือกหลากหลายปริมาณ หลากหลายราคา)

ต่อไปเป็นยาน้ำสหรับอาการไอ หรือมีเสมหะ ที่มีให้เลือกหลากหลายยี่ห้อ ในส่วนภาพด้านซ้ายมือจะเป็นยาน้ำสำหรับเด็กที่มีให้เลือกหลากหลายรสชาติทั้งสตรอวเบอรรี่ หรือรสพีช ซึ่งก็มีให้เลือกมากมายตามอาการต่างๆ สามารถปรึกษาพนักงานที่ร้าน หรือเภสัชกรที่ประจำอยู่ร้านนั้นๆ ดูได้เลย

ต่อไปเป็นยาสำหรับอาการที่เกี่ยวกับท้อง

ภาพด้านซ้ายมือ” AVALON”「アバロン」สำหรับอาการกรดไหลย้อน หรือแสบร้อนกลางอก

วิธีการรับประทาน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 1 ซอง  (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 972 เยน/12ซอง

ภาพด้านขวามือ” Ohta Isan A”「太田胃散A」สำหรับอาการไม่สบายท้อง อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ปวดกระเพาะ ไม่อยากอาหาร ดื่มมากเกินไป คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ เป็นต้น

วิธีรับประทาน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 646 เยน/45เม็ด

และยาชนิดสุดท้ายก็คือ ยาสำหรับอาการท้องร่วง ซึ่งเป็นยาที่คนไทยอาจจะรู้จักกันดีกับยา”SEIROGAN”「正露丸(Seirogan)」หรือ “เซโรงัง” ยาแก้อาการท้องเสีย หรือาหารเป็นพิษ

วิธีรับประทาน วันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 3 เม็ด (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ราคาประมาณ 753 เยน/30เม็ด

นอกจากยาที่เราได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้วก็ยังมียาอื่นๆ ตามอาการต่างๆ อยู่อีกมากมาย เพราะฉะนั้นสามารถสอบถามรายละเอียดต่างๆ โดยใช้คำศัพท์ที่ได้ยกตัวอย่างไปข้างต้นได้ที่พนักงาน หรือเภสัชกรเลย

แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน และหากต้องเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินก็สามารถโทรเรียกรถพยาบาลได้ที่เบอร์「119」เพื่อติดต่อไปยัง Call Center แต่ทว่าโดยพื้นฐานทั่วไปจะรองรับภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

โดยจะต้องแจ้งตำแหน่งที่ท่านอยู่ ณ ขณะนั้น ให้ถูกต้องแม่นยำเท่านั้น รถพยาบาลก็จะเดินทางมาทันที ท่านอาจทำการโทรเช็คสถานที่ให้แม่นยำก่อน(เช่น ห้องพัก△□ของโรงแรม〇× เป็นต้น)เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการอย่างราบรื่น

ในกรณีที่ท่านไม่มีโทรศัพท์ หรือ ไม่ทราบสถานที่ที่ท่านอยู่ ณ ตอนนั้น ก็สามารถขอความช่วยเหลือจากคนญี่ปุ่นที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้โดย พูดว่า

「SUIMASEN KYUUKYUUSHA WO YONDE KUDASAI」

「ซุยมาเซ็น คิวคิวฉะ โอะ ยนเด้ะ คุดาซัย」(กรุณาเรียกรถพบาบาลให้หน่อย ครับ/ค่ะ)

เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะให้ความช่วยเหลือท่านอย่างแน่นอน

ถึงแม้ว่าในประเทศญี่ปุ่นจะมีตัวยารักษาอาการต่างๆ อยู่มากมาย ซึ่งตัวยาแต่ละอย่างก็ไม่ได้มีฤทธิ์ที่แรงกว่ายาที่ถูกใช้ในประเทศไทย แต่หากท่านแพ้ยาตัวใดก็ควรแจ้งหรือสอบถามให้แน่ใจก่อนจะปลอดภัยที่สุด เพราะหากไม่ทำการตรวจสอบให้ดีก่อนก็อาจทำให้เกิดปัญหาที่ใหญ่กว่าตามมาได้ ระหว่างท่องเที่ยวหากร่างกายแข็งแรงได้ตลอดทริปก็จะเป็นเรื่องดี และทำให้ทริปนั้นผ่านไปด้วยดีและเที่ยวได้อย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นก่อนออกเดินทางท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็เตรียมร่างกายให้พร้อม หรือแต่งกายให้เข้ากับสภาพอากาศเพื่อรักษาสุขภาพกันด้วยนะคะ เราหวังว่าข้อมูลในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวญี่ปุ่นของท่านไม่มากก็น้อย  แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า