7 ข้อเกี่ยวกับ “ปีใหม่” ของประเทศญี่ปุ่นที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน

09 Jul 2020
1043

และแล้ววันนี้ก็เป็นวันสุดท้ายของปี “พุทธศักราช 2561” หรือ “คริสต์ศักราช 2018” เพื่อเข้าสู่ปีใหม่ในปี “พุทธศักราช 2562” หรือ “คริสต์ศักราช 2019” กันแล้ว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเองก็จะเริ่มต้นปีใหม่แบบสากลทั่วไปคือในวันที่ 1 มกราคม โดยช่วงวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้องรับปีใหม่ก็จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม ไปจนถึงวันที่ 3 เดือนมกราคม ขึ้นอยู่กับปีและบริษัทต่างๆ ผู้คนส่วนใหญ่ที่จะกลับบ้าน หรือออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน และรื่นเริงในช่วงนี้กันอย่างเต็มที่

ดังนั้นในครั้งนี้เราจะพูดถึงบรรยากาศวันขึ้นปีใหม่ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมธรรมเนียมปฏิบัติ หรือข้อควรระวังในช่วงนี้มาให้ทุกท่านได้ทราบ

1.การทำความสะอาดครั้งใหญ่ หรือ โอโซจิ : 大掃除

ซึ่งสถานที่ทำงานส่วนใหญ่แล้วจะสิ้นสุดวันทำงานวันสุดท้ายของปีในวันที่ 29 ธันวาคม และเข้าสู่วันหยุดกันตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม แต่เมื่องานสิ้นสุดลงแล้วสิ่งที่จะต้องทำก็คือ “การทำความสะอาดครั้งใหญ่” เพื่อทำความสะอาดฟิวเตอร์ของเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องดูดอากาศ ทำความสะอาดห้องน้ำ รวมไปถึงการทำความสะอาดในส่วนที่โดยปกติแล้วไม่ได้ทำความสะอาด หรือเข้าถึงยาก เพื่อทำความสะอาดบ้านในทุกซอกทุกมุม เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ที่สะสมมาตลอดทั้งปี เมื่อทำความสะอาดบ้านจนสะอาดหมดจดแล้ว ก็จะเริ่มติดการตกแต่งต่างๆ เพื่อต้อนรับปีใหม่อย่างเช่น「しめ縄 : ชิเมะนาวะ (มัดเชือกฟาง)」「門松 : คาโดะมัตสึ (ช่อไม้ไผ่)」「鏡餅 : คางามิโมจิ (โมจิสองชั้น)」เพื่อให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่ดีนั่นเอง

2. วันสิ้นปี หรือ โอมิโซกะ: 大晦日

คำว่า “โอมิโซกะ: 大晦日” เป็นชื่อเรียกเฉพาะของวันสุดท้ายของปีในวันที่ 31 ธันวาคม ผู้คนจะเดินทางกลับบ้านเกิด เพื่อรวมญาติ พบปะครอบครัวที่มักไม่ค่อยได้พบเจอกันบ่อย และสิ่งที่มักจะทานกันในวันสิ้นปีก็คือ「年越しそば : โทชิโคชิโซบะ」หรือ “โซบะข้ามปี”

ซึ่ง「年越しそば : โทชิโคชิโซบะ」หรือ “โซบะข้ามปี” เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนญี่ปุ่นมายาวนาน โดยการทานโซบะข้ามปีในวันสิ้นปีหรือ “โอมิโซกะ” นี้มีความเชื่อว่า เส้นโซบะที่ยาวและบางนี้ มีความหมายว่า “อายุยืนยาว” ดังนั้นการทานโซบะข้ามปีจึงเป็นการขอให้อายุยืนยาว หากทานเหลือหรือทานนานคร่อมปีก็จะให้ในทางตรงข้าม เพราะฉะนั้นควรจะทานให้หมด และทานก่อนที่จะขึ้นวันใหม่นั่นเอง

3. 除夜の鐘 : โจะยะโนะคาเนะ (ระฆัง)・新年 : ชินเน็น (ปีใหม่)

เมื่อระฆัง 除夜の鐘 : โจะยะโนะคาเนะ ได้ดังขึ้น ใน “โอมิโซกะ(วันสิ้นปี)” ก็เป็นสัญญาณว่ากำลังจะสิ้นสุดปีแล้วนั่นเอง โดยระฆัง 除夜の鐘 : โจะยะโนะคาเนะ ก็คือ การตีระฆังทั้งหมด 108 ครั้งในวันสุดท้ายของปี หรือวันก่อนวันขึ้นปีใหม่ โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์เราจะมีกิเลสอยู่ 108 อัน เป็นการตีระฆังเพื่อปัดเป่ากิเลสทั้งหมดในหนึ่งปีที่ผ่านมาให้หมดไป

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากเป็นประเทศไทยก็นิยมเฉลิมฉลองข้ามปีกันด้วยงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ครึกครื้น แต่ประเทศญี่ปุ่นจะข้ามปีกันด้วยความเงียบสงบ

อย่างเช่นรายการวิทยุ「ゆく年くる年 : ยุคุโทชิ คุรุโยชิ」ที่จะถ่ายทอดสดระฆัง 除夜の鐘 : โจะยะโนะคาเนะ ของวัดจิออนอิน ในเกียวโต หรือ นาริตะซัง ในจิบะ ที่มีมายาวนานกว่า 90 ปี ที่มีผู้ฟังมากกว่า 20% ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันเลยทีเดียว

4. โอเซจิ : おせち

อาหารปีใหม่ของประเทศญี่ปุ่นก็คือ「โอเซจิ : おせち」ที่เป็นอาหารเพื่อทานต้อนรับปีใหม่อยู่ในกล่องข้าว ซึ่งจะทานพร้อมญาติๆ หรือครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เวลาก่อนช่วงปีใหม่ในการทำโอเซจิ : おせち ตั้งแต่ซื้อวัตถุดิบ จากนั้นก็ปรุงอาหาร และจัดอาหารลงในกล่องข้าวที่เรียกว่า “จูบาโกะ : 重箱” อย่างสวยงามน่าทาน

ซึ่งอาหารที่ถูกจัดอยู่ใน “โอเซจิ” ก็จะแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่จะมี ไข่ปลา ถั่วดำ หรือกุ้ง นอกจากนี้ในแถบคันโทจะนิยมใส่ปลาแซลมอน ส่วนในแถบคันไซจะนิยมใส่ปลาบุริ (ปลาหางเหลือง) ที่จะใส่วัตถุดิบจากท้องถิ่นต่างๆ จัดอาหารสีสันสดใสสวยงาม

ซึ่งหากคุณได้ไปญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้ก็อาจได้ทาน「โอเซจิ : おせち」ตามที่พักต่างๆ ได้เช่นกัน

5.การไปวัดหรือศาลเจ้าในวันปีใหม่ หรือ ฮัตสึโมเดะ : 初詣

เมื่อได้ทาน “โอเซจิ” อาหารปีใหม่แล้ว ก็ไปวัดหรือศาลเจ้าในวันปีใหม่「 初詣 : ฮัตสึโมเดะ」กันเลย การไปวัด หรือศาลเจ้าครั้งแรกของปีเพื่อขอบคุณ และขอพรให้ปีใหม่เป็นปีที่ดี และสงบสุข โดยส่วนใหญ่แล้วจะไปวัดหรือศาลเจ้ากันในช่วง 3 วันแรกของปีใหม่ อย่างที่โตเกียวกับ “ศาลเจ้าเมจิ”「MEIJI JINGU(明治神宮)」หรือ “ศาลเจ้าคาวาซากิ”「KAWASAKI DAISHI(川崎大師)」ส่วนนาโกย่า ก็จะมี “ศาลเจ้าอัตสึตะ”「ATSUTA JINGU(熱田神宮)」และ “ศาลเจ้าสุมิโยชิ”「SUMIYOSHI TAISHA(住吉大社)」หรือ “ศาลเจ้าโอซาก้าเท็มมังงุ”「OSAKA TEMMANGU(大阪天満宮)」ศาลเจ้าเหล่านี้จะเป็นศาลเจ้าโด่งดังที่ได้รับความนิยมจากผู้คนในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก มีผู้คนหลายแสนคนเดินทางไปกราบไหว้สักการะที่ศาลเจ้ากันเป็นจำนวนมาก ซึ่งภายในวัดหรือศาลเจ้าก็จะมีร้านค้าแผงลอยอยู่มากมาย ให้ได้ทาน และเพลิดเพลินกับบรรยากาศงานขึ้นปีใหม่ของญี่ปุ่นกันอย่างเต็มที่ หากได้เที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงนี้ก็ลองสัมผัส「 初詣 : ฮัตสึโมเดะ」กันดูได้เลย

6. ฮะสึอุริ : 初売り

หลังจาก “ฮัตสึโมเดะ” แล้ว ก็ตามด้วย「初売り : ฮะสึอุริ」ได้เลย

「初売り : ฮะสึอุริ」นี้ก็คือ “การลดราคาสินค้าช่วงปีใหม่” ตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า หรือร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นจะลดราคาวันปีใหม่กันในวันที่ 1 หรือ 2 มกราคม โดยเฉพาะสินค้าแฟชั่นอย่าง เสื้อผ้า รองเท้า หรือ กระเป๋าที่อาจลดมากถึง 30-50% เลยทีเดียว ภายในเมืองก็จะเต็มไปด้วยวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ บรรยากาศคึกคัก โดยเฉพาะ “ฟุกุบุคุโระ” หรือ “ถุงโชค” ที่ได้รับความนิยมมาเป็นพิเศษ ซึ่งจะถูกจำหน่ายอยู่ทั้งห้างสรรพสินค้า, ศูนย์การค้า, Apple Store, สตาร์บัค หรือแมคโคนัล ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งหากโชคดีอาจได้สินค้าที่ถูกลงไปหลายเท่า ยิ่งเป็นร้านที่ได้รับความนิยมก็จะยิ่งมีคนมารอต่อแถวซื้อกันตั้งแต่หัวค่ำเลยทีเดียว

7. ข้อควรระวังในช่วงวันสิ้นปี และ วันขึ้นปีใหม่

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะเป็นช่วงที่คนญี่ปุ่นเดินทางกลับบ้านเกิด หรือเดินทางท่องเที่ยวกันเป็นจำนวนมาก การคมนาคมต่างๆ หนาแน่นไปด้วยผู้คนทั้งรถไฟ หรือเครื่องบิน ซึ่งหากต้องการจองตั๋วในช่วงนี้ก็อาจต้องจองล่วงหน้า หรือหากจำเป็นต้องใช้บริการการคมนาคมต่างๆ ในช่วงเวลานี้ก็อาจไม่มีที่นั่ง หรือต้องเจอกับบรรยากาศที่แออัดเป็นพิเศษ

เพราะฉะนั้นหากคุณมีแผนว่าจะมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในสิ้นเดือนธันวาคม ไปจนถึงต้นเดือนมกราคม แนะนำว่าให้จองตั๋วการเดินทางเอาไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากนี้ห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารบางส่วนอาจหยุดในวันแรกของปี วันที่ 1 มกราคมอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องเช็คให้ดีๆ ก่อนนะคะ

ครั้งนี้เราได้พูดถึงบรรยากาศวันขึ้นปีใหม่ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมธรรมเนียมปฏิบัติ หรือข้อควรระวังในช่วง “วันขึ้นปีใหม่” กันไปแล้ว ทั้งบรรยากาศประเทศญี่ปุ่นที่คึกคัก โดยเฉพาะ “大晦日 : โอมิโซกะ หรือวันสุดท้ายของปี” “除夜の鐘 : ระฆังโจะยะโยะคาเนะ” “初詣 : ฮะสึโมเดะ หรือ การไปวัด-ศาลเจ้าในช่วงวันขึ้นปีใหม่” และบรรยากาศงานเทศกาลในวัด หรือศาลเจ้า ที่ได้บรรยกาศแบบญี่ปุ่น พร้อมวิวที่มีเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาที่ไม่ควรพลาดเลยทีเดียว ยังไงก็ลองมาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นกันในช่วงนี้ดูได้เลย แล้วพบกันใหม่ปีหน้าค่ะ♪