ประเทศญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับมารยาทในการใช้ชีวิตทางสังคมเป็นอย่างมาก ผู้คนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตบนการไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น จึงมีมารยาทในเรื่องต่างๆ ที่คนญี่ปุ่นปฏิบัติกันเป็นกิจวัตร เป็นมารยาทที่มีเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นจนเกิดภาพลักษณ์ว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เป๊ะ ระเบียบ และเข้มงวด
ถึงแม้ว่าประเทศญีปุ่นจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นแล้วเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนจาก 5 ปีที่แล้วที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศญี่ปุ่นจำนวน 10 ล้านคน(ข้อมูลปีพ.ศ.2556) ที่ได้เพิ่มขึ้นเป็น 31 ล้านคน(ข้อมูลปีพ.ศ.2561) เพียงแค่ 5 ปีเท่านั้นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นก็ได้เพิ่มากขึ้นถึง 3 เท่าตัวเลยทีเดียว ซึ่งประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้มีการรับมือต้อนรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นป้ายแนะนำเป็นภาษาต่างประเทศภาษาต่างๆ ศูนย์แนะนำการท่องเที่ยวสำหรับชาวต่างชาติ ฯลฯ แต่ถึงอย่างนั้นนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเราก็ควรเคารพสถานที่ที่ไปโดยปฏิบัติตามระเบียบ วัฒนธรรม และมารยาทต่างๆ ด้วย
เพราะฉะนั้นในวันนี้เราจะไปพูดถึงมารยาทการปฏิบัติตัวระหว่างการท่องเที่ยวมาประเทศญี่ปุ่นมาทั้งหมด 7 ข้อ ไปดูกันเลย
1.มารยาทในการอาบน้ำรวมสาธารณะ หรือ การแช่บ่อออนเซ็นรวม
อย่างแรกเลยก็คือ การอาบน้ำและแช่บ่อน้ำรวมในที่สาธารณะ ซึ่งระหว่างการท่องเที่ยวญี่ปุ่นหากเข้าพักที่โรงแรม เรียวกังที่เป็นที่พักสไตล์ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในโรงแรมราคาประหยัดบางแห่ง จะมี “ห้องอาบน้ำรวม” “บ่ออาบน้ำรวมขนาดใหญ่” หรือ “บ่อออนเซ็นธรรมชาติส่วนรวม” ที่นักท่องเที่ยวจะพบอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการอาบน้ำรวมในประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นวัฒนธรรมทั่วไปของประเทศญี่ปุ่น ที่อาจเป็นเรื่องที่แปลกใหม่สำหรับคนไทย จนหลายๆ คนไม่กล้าที่จะลองสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ เนื่องจากทุกคนจะต้องเปลือยผ้าทั้งหมดไม่ว่าหญิงหรือชายในการอาบน้ำนั่นเอง แต่หากคุณกล้าก็ไปลองดูได้เลย แต่ในการอาบน้ำรวมก็มีมารยาทที่จะต้องปฏิบัติตามอยู่
โดยจะมีกฏระเบียบการแช่น้ำแร่ หรือแช่บ่อออนเซ็นรวมดังนี้
ก่อนอื่นก็เข้าไปในห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อเปลือยผ้าทั้งหมดออก โดยสิ่งที่สามารถน้ำติดตัวไปได้ก็คือผ้าขนหนูผืนเล็กเอาไว้เช็คตัวหลังจากอาบน้ำเสร็จเท่านั้น จากนั้นก็จะต้องไปอาบน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายให้สะอาด ซึ่งระหว่างอาบน้ำก็ควรจะอาบน้ำตามทีบริเวณที่ถูกเตรียมไว้ให้โดยไม่รบกวนผู้อื่น (เช่น ระวังไม่ให้น้ำ หรือฟองสบู่แชมพูกระเด็นไปโดนผู้อื่น เป็นต้น) จากนั้นเมื่ออาบน้ำแล้วก็ได้เวลาแช่บ่อน้ำแร่ หรือบ่อออนเซ็น ในการแช่บ่อออนเซ็นนั้น สำหรับผู้ที่ผมยาวไม่ควรปล่อยผมให้จุ่มลงไปในบ่อออนเซ็นรวม ควรมัดรวบผมขึ้นให้เรียบร้อย และสิ่งที่ห้ามนำไปจุ่มในบ่อรวมก็คือ ผ้าขนหนูต่างๆ ที่สำคัญคือห้ามสวมใส่เสื้อผ้าใดๆ ลงในบ่อออนเซ็นรวมโดยเด็ดขาด อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น ท่านสามารถแช่ออนเซ็นได้ตามความต้องการ เมื่อแช่เสร็จแล้ว ก็จะต้องไปล้างตัวอีกรอบ และเช็ดตัวให้แห้งสนิทจึงสามารถออกไปสู่บริเวณห้องแต่งตัวได้ เมื่อสวมใส่เครื่องแต่งกายเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถไดร์ผม เช็คหน้า ล้างหน้า ทาครีม ฯลฯ ได้ที่โซนแต่งหน้าได้เลย
2.มารยาทการใช้บริการขนส่งสาธารณะ
สำหรับมารยาทการใช้บริการขนส่งสาธารณะนั้นก็มีการปฏิบัติต่างๆ มากมายเพื่อสร้างความเป็นระเบียบและสะดวกสบายต่อผู้ใช้บริการ โดยมีมารยาทต่างๆ ดังนี้
- ไม่ควรส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่นขนาดใช้บริการขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ หรือ รถบัส และควรปิดเสียงเครื่องมือสื่อสารต่างๆ ให้เรียบร้อย ที่สำคัญคือไม่ควรโทรศัทพ์ภายในยานขนส่งสาธารณะต่างๆ
- ในการใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องต่อคิวเพื่อขึ้นรถไฟให้ถูกต้องตามกำหนด อย่างเช่นสำหรับรถไฟก็จะต้องยืนต่อคิวตามสัญลักษณ์ หรือหมายเลขที่ถูกกำหนดเอาไว้ตามรถไฟขบวนนั้นๆ เป็นต้น
- ในกรณีของการใช้ขึ้นรถไฟ เมื่อรถไฟมาถึงก็จะต้องหลีกทางให้กับผู้โดยสารที่ต้องการลง และต้องให้ผู้โดยสารที่อยู่ในรถไฟลงให้หมดก่อนจึงสามารถขึ้นรถไฟได้
3. มารยาทในการต่อคิว
การต่อคิวในประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวควรปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากการต่อคิวเพื่อใช้บริการขนส่งสาธาณะ(รถบัส รถไฟ หรือรถแท็กซี่) แล้วคุณจะต้องต่อคิวเพื่อใช้บริการสาธารณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การต่อคิวเข้าห้องน้ำ การต่อคิวซื้อของ การต่อคิวเพื่อเล่นเครื่องเล่น หรือแม้แต่การต่อคิวเพื่อขึ้นลิฟต์เป็นต้น
4.มารยาทในการชมธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆ
ระหว่างการท่องเที่ยวชมธรรชาติที่สวยงามในประเทศญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ต้นไม้ หรือสวนต่างๆ นั้นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่งเลยก็คือ การทำลาย หรือสร้างความเสียหายต่อธรรมชาติต่างๆ รอบตัว อย่างเช่น
- ไม่ควรเด็ด หรือจับดอกไม้ต่างๆ ที่จะสร้างความเสียหายต่อดอกไม้ชนิดนั้นๆ โดยเฉพาะในช่วงชมดอกซากุระที่หลายๆ คนต่างต้องการที่จะถ่ายรูปสวยๆ คู่กับซากุระจนบ้างครั้งอาจเผลอถือกิ่งเข้ามาใกล้ๆ ใบหน้าสร้างความเสียหายให้กับดอกไม้ที่สวยงามเหล่านั้น
- สวนแบบญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นที่พื้นส่วนใหญ่นั้นจะมีมอสสีเขียวขึ้นอยู่ ผสมผสานกับวิวต้นไม้ใบหญ้าโดยรอบอย่างสวยงาม ดังนั้นสำหรับการชมสวนต่างๆ นั้นควรเดินตามทางเดินที่สถานที่นั้นๆ ได้กำหนดเอาไว้เท่านั้น ไม่ควรล้ำเส้นเข้าไปในรั้ว หรือที่กั้นเพื่อเหยียบย้ำ หรือสร้างความเสียหายต่อต้นมอส หรือดอกไม้ใบหญ้าบริเวณพื้นภายในสวน
5.มารยาทในการเข้าห้องน้ำ
การใช้บริการห้องน้ำสาธารณะในประเทศญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่จำเป็นต้องเสียค่าบริการในการใช้ห้องน้ำ ดังนั้นการร่วมกันรักษาความสะอาดจึงเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนอกจากการรักษาความสะอาด และการต่อคิวเพื่อเข้าห้องน้ำอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว สำหรับทิชชู่นั้นไม่จำเป็นต้องทิ้งในถังขยะ แต่สามารถทิ้งทิชชู่ที่ใช้แล้วลงในโถชักโครกได้เลย ต่างจากที่ประเทศไทย
6.มารยาทในการทิ้งขยะ
ภาพลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถเห็นได้อย่างเด่นชัดนั่นก็คือ “ความสะอาด” ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่บ้านเมืองสะอาดสะอ้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีถังขยะอยู่ทุกที่ คุณจะไม่สามารถพบเห็นถังขยะได้อย่างง่ายดายหรือหาได้ทั่วไปภายในเมืองเหมือนในประเทศไทย หากต้องการทิ้งขยะแต่ไม่พบเห็นถังขยะเลย คุณก็จะต้องเก็บขยะนั้นเอาไว้จนกว่าจะเจอถังขยะ และเมื่อเจอถังขยะแล้วก็จำเป็นจะต้องทิ้งให้ถูกต้อง และแยกขยะให้เรียบร้อยตามที่ระบุไว้ในแต่ละถัง อย่างเช่น ถังทิ้งขยะเผาไหม้ ถังขยะสำหรับขยะพลาสติก สำหรับกระป๋อง ฯลฯ เป็นต้น
7.มารยาทในการเดิน
สำหรับทางเท้าภายในเมืองต่างๆ นั้นในบางแห่งจะแยกทางถนนสำหรับคนเดิน และถนนสำหรับจักรยาน เนื่องจากว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นจะนิยมใช้จักรยานในการสัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงไม่ควรเดินแบบเรียงหน้ากระดานปิดขวางทางเดินที่อาจมีรถจักรยานสัญจรผ่านไปผ่านมาอยู่ตลอดเวลา ควรจะเดินชิดทางใดทางนึงเพื่อเว้นทางให้คนที่เดินเร็ว หรือการสัญจรของรถจักรยาน
ในวันนี้เราได้พูดถึงมารยาทการปฏิบัติตัวระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นไปทั้งหมด 7 ข้อ คือ
1.มารยาทในการอาบน้ำรวมสาธารณะ หรือ การแช่บ่อออนเซ็นรวม
2.มารยาทการใช้บริการขนส่งสาธารณะ
3.มารยาทในการต่อคิว
4.มารยาทในการชมธรรมชาติตามสถานที่ต่างๆ
5.มารยาทในการเข้าห้องน้ำ
6,มารยาทในการทิ้งขยะ
7.มารยาทในการเดิน
ซึ่งมารยาทต่างๆ ที่เราได้พูดถึงกันไปทั้งหมด 7 ข้อนี้ก็เป็นการปฏิบัติหลักๆ เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังไงหากท่านได้มาท่องเที่ยวแล้วต้องพบเจอกับสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็ลองนำไปใช้ดูได้เลย และหากท่านเกิดความสงสัยอื่นๆ เพิ่มเติมก็ลองหาข้อมูลต่างๆ เอาไว้ให้พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมคร่าวๆ ของประเทศญี่ปุ่นเอาไว้ก่อนไปท่องเที่ยวก็ดีนะคะ นอกจากจะได้กลมกลืนกับคนญี่ปุ่นแล้วยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของนักท่องเที่ยวชาวไทยอีกด้วย แล้วพบกันใหม่ในตอนหน้า