ทำความรู้จักเครื่องปรุงต่างๆ ที่ทานคู่กับเมนูอาหารญี่ปุ่น
UP DATE 17.พ.ค.2562
ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่แล้วก็อาจพบเห็นเครื่องปรุงอยู่เพียงบางชนิดเท่านั้นอย่างเช่น โชยุ หรือวาซาบิ และซอสทงคัตสึที่ราดมากับอาหารเลย แต่เมื่อได้เดินทางมาถึงถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว ก็อาจพบเจอกับเครื่องปรุงนานาชนิดที่วางอยู่บนโต๊ะอาหารในร้านอาหารญี่ปุ่นให้ได้สับสนกันอยู่หลายครั้ง ดังนั้นครั้งนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไปรู้จักกับเครื่องปรุงชนิดต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่นกันค่ะ
โชยุ
ช่ายสุด : โชยุ (ภาษาญี่ปุ่น : 醤油/しょうゆ)
เริ่มจากซอสที่ทุกคนทราบกันดีกับ “ซอสโชยุ” (ภาษาญี่ปุ่น : 醤油/しょうゆ) เป็นซอสถั่วเหลือง หรือก็คือ ซีอิ๊ว ที่มีรสชาติคล้ายๆ กับซอสถั่วเหลืองแบรนด์ต่างๆ ในประเทศไทย เป็นซอสที่ใช้ทั้งสำหรับการปรุงอาหาร และใช้จิ้มทานคู่กับอาหาร
อย่างเช่น ปลาดิบ “ซาชิมิ”, ซูชิ, ข้าวห่อสาหร่าย, ปลาย่าง, ไข่หวาน หรือโมจิย่าง เป็นต้น
เกลือ
ซ้าย : เกลือ / กลาง : ชิจิมิ / ขวา : โชยุ
ในภาษาญี่ปุ่นเขียนว่า “塩” หรือ “しお” อ่านว่า “ชิโอะ” นอกจากจะเป็นเครื่องปรุงที่ผสมอยู่ในอาหารแล้ว คนญี่ปุ่นมักใช้เกลือในการทานกับอาหารอยู่หลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น เท็มปุระ, เนื้อย่าง หรือมะเขือเทศสดๆ นั่นเอง
ชิจิมิ / อิจิมิ
“ชิจิมิ”(ชิจิมิโทการาชิ : 七味唐辛子) คือ เครื่องเทศในตระกูลพริกบดรวมกัน 7 ชนิด ส่วน “อิจิมิ” (อิจิมิโทการาชิ : 一味唐辛子) ก็คือพริกแห้งป่นธรรมดา ซึ่งพริกของญี่ปุ่นจะไม่เผ็ด แต่เด่นเรื่องการให้ความหอมมากกว่า สามารถใช้ปรุงรสชาติอาหารได้ทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วคนญี่ปุ่นมักจะใส่ใน อุดง, โซบะ, ราเม็ง, ข้าวหน้าเนื้อ หรือซุปหมูทงจิรุ เป็นต้น
ซอสทงคัตสึ
สำหรับซอสทงคัตสึนี้จะเป็นซอสรสชาติเข้มข้น มีรสเค็มปนหวานเล็กน้อย ในภาษาญี่ปุ่นจะเขียนว่า “とんかつソース”“ซอสทงคัตสึ “
ใช้ทานกับ ของทอดต่างๆ เช่น ของทอดเสียบไม้ “คุชิคัตสึ”, หมูทอดแบบ “ทงคัตสึ” หรือ กุ้งชุดแป้งทอดเกร็ดขนมปัง เป็นต้น
ซอสเปรี้ยวพนสึ
“พนสึ” (ภาษาญี่ปุ่น : ポン酢) ซอสเปรี้ยวที่ประกอบไปด้วยน้ำผลไม้ตระกูลส้มที่ให้รสเปรี้ยวสดชื่น ดังนั้นจึงนิยมรับประทานกับอาหารที่มีความคาวอย่างเช่นอาหารทะเล โดยเฉพาะ “ปู” หรือ “หอยนางรมดิบ” นอกจากนี้ยังนิยมรับประทานกับเมนูหม้อไฟต่างๆ อย่างเช่น สุกียากี้ญี่ปุ่น อีกด้วย
น้ำจิ้มเท็มปุระ
(รูปภาพเท็มปุระ / 天つゆ)
ในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกว่า “เท็นซึยุ” เขียนว่า “天つゆ” เป็นน้ำจิ้มที่ทานคู่กับ “เท็มปุระ” ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะนำน้ำซุป (ดาชิ : 出汁) มาผสมกับโชยุและอาจจะปรุงรสด้วยน้ำตาล หรือมิริน (ในสัดส่วน 4:1:1 / น้ำซุป : โชยุ : น้ำตาล หรือมิริน) ซึ่งในเท็นซึยุนี้อาจใส่หัวไข้เท้าและขิงดองขูดมาละลายเพื่อทานคู่กันได้ตามความชอบ
น้ำจิ้มเกี๊ยวซ่า
รูป : น้ำมัน “รายุ” (น้ำมันพริก : ラー油)
สำหรับน้ำจิ้มเกี๊ยวซ่านั้นหากทานที่ร้านอาหารแต่ละร้านก็จะมีความแตกต่างกัน บางร้านอาจเตรียมซอสเกี๊ยวซ่าสำเร็จไว้ให้ แต่บางร้านอาจต้องปรุงแต่งซอสเกี๊ยวซ่าขึ้นเอง ปรุงโดยนำซอสโชยุ (醤油:しょうゆ) และน้ำส้มสายชู(酢) มาผสมกัน (สัดส่วน 1:1 หรือตามความชอบ) นอกจากนี้ก็สามารถเพิ่มความหอมด้วย น้ำมัน “รายุ” (น้ำมันพริก : ラー油) หรือ น้ำมันงา ซึ่งรสชาติของซอสเกี๊ยวซ่านั้นจะมีความเปรี๊ยวเค็ม พร้อมความเผ็ดหอมจากน้ำมันรายุนั่นเอง
คาราชิ
“คาราชิ” (ภาษาญี่ปุ่น : からし)หรือมัสตาร์ดญี่ปุ่น เครื่องปรุงเหนียวๆ สีเหลืองที่มีความคล้ายกับมัสตาร์ดโดยทั่วไปแต่จะให้รสที่เผ็ดกว่า อาหารที่มักใช้ทานคู่กันก็คือ “โอเด้ง”, บะหมี่เย็น “ฮิยาชิจูกะ”, ขนมจีบ หรือ ซาลาเปาไส้หมู “นิคุมัง” เป็นต้น
วาซาบิ
วาซาบิ (ภาษาญี่ปุ่น :わさび) นั้น นอกจากจะทานคู่กับปลาดิบซาชิมิ หรือซูชิ แล้วคนญี่ปุ่นก็มักทานคู่กับ “ซารุโบบะ” หรือทานคู่กับเนื้อต่างๆ อย่างเช่นสเต็กเป็นต้น
ซอสโอโคโนมิยากิ และซอสทาโกยากิ
ซ้าย : ซอสโอโคโนมิยากิ ขวา : ซอสทาโทยากิ
และสุดท้ายนี้ สำหรับ “ซอสโอโคโนมิยากิ”(ระบุที่สินค้าว่า “お好みソース” อ่านว่า “โอโคโนมิซอส”) และ “ซอสทาโกยากิ”(たこ焼きソース) นั้นจะจำหน่ายอยู่แยกกันในร้านค้าต่างๆ ถึงแม้ว่าซอสทั้งสองนี้จะมีความคล้ายกัน แต่รสชาติก็มีความแตกต่างและถูกปรุงแต่งให้เข้ากับอาหารนั้นๆ หากเพื่อนๆ รู้สึกว่าทั้งสองซอสนี้ไม่มีความแตกต่างกันก็สามารถใช้ทานแทนกันได้เช่นกัน และส่วนใหญ่หากไปทานโอโคโนมิยากิ หรือทาโกยากิที่ร้านซอสเหล่านี้ก็จะถูกราดมากับอาหารเลย แต่หากเพื่อนๆ ต้องการซื้อกลับประเทศไทยก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปได้เลย
เป็นยังไงกันบ้างคะ? กับเครื่องปรุงต่างๆ ที่ทานคู่กับอาหารญี่ปุ่น ซึ่งอาหารญี่ปุ่นจะมีรสชาติที่ไม่จัดจ้านเท่าประเทศไทยซึ่งน้ำจิ้มต่างๆ ก็มีความแตกต่างกับอาหารไทยเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นประเทศไทยที่ชอบการจิ้มน้ำจิ้มต่างๆ แล้ว การรู้วิธีทาน และรสชาติคร่าวๆ ของซอสต่างๆ เอาไว้ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เพื่อนๆ สามารถเพลิดเพลินกับอาหารญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งนอกจากเครื่องปรุงที่เราได้แนะนำไปในครั้งนี้ยังมีเครื่องปรุงอื่นๆ ที่คนญี่ปุ่นรับประทานกันอยู่อีกมากมาย แล้วเราจะนำข้อมูลต่างๆ มาอัพเดตให้เพื่อนๆ อีกในคราวหน้า รอติดตามกันด้วยนะคะ