ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน! (ตอนที่ 2)

09 Jul 2020
1673

ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน! (ตอนที่ 2)

UP DATE 29.เม.ย.2562

ในการมาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นประเทศแห่งรถไฟที่มีการคมนาคมขนส่งโดยรถไฟเป็นหลัก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่มีเส้นทางรถไฟอยู่มากมายหลายสาย ซึ่งปัญหาหนึ่งที่นักท่องเที่ยวจะพบเจออยู่บ่อยครั้งก็คงหนีไม่พ้น “การขึ้นรถไฟ” ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางรถไฟที่มีอยู่มากมาย หรือขั้นตอนการขึ้นรถไฟที่แสนจะงง ในตอนที่ผ่านมาเราได้พูดถึง ชนิดของรถไฟไปจนถึงขั้นตอนการซื้อตั๋วรถไฟกันแล้ว ในตอนนี้เราจะพาเพื่อนๆ ไป ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน! (ตอนที่ 2) ในขั้นตอนการขึ้นรถไฟหลังจากการซื้อตรวจรถไฟแล้ว ไปดูกันเลย

 การผ่านช่องตรวจตั๋ว 

หลังจากซื้อตั๋วรถไฟ หรือ IC CARD เรียบร้อยแล้ว “ช่องตรวจตั๋ว” หรือ ประตูตรวจตั๋ว (ภาษาญี่ปุ่น : 改札) จะเป็นจุดที่ต้องผ่านก่อนขึ้นรถไฟ และหลังจากลงจากรถไฟแล้ว โดยมีวิธีการตรวจตั๋วจากเครื่องตรวจอัตโนมัติดังนี้

ขาเข้า – สำหรับตั๋วรถไฟแบบแผ่นทั่วไป ให้ใส่ตั๋วลงไปในช่องที่อยู่ในวงกลมสีแดง (รูปซ้าย) และรับตั๋วจากช่องวงกลมสีแดง (รูปขวา) จากนั้นผ่านเข้าไปในชานชาลาได้เลย / ส่วน IC CARD นั้นให้แตะบัตรที่บริเวณปุ่ม IC ที่อยู่ในวงกลมสีเหลือง (รูปซ้าย) เพื่อสแกน จากนั้นก็ผ่านเข้าไปในชานชาลา และสามารถเช็คยอดเงินได้จากช่องสี่เหลี่ยมสีเหลือง(รูปขวา)

ขาออก – สำหรับตั๋วรถไฟแบบแผ่น ให้ใส่ตั๋วลงไปในช่องที่อยู่ในวงกลมสีแดง (รูปซ้าย) / ส่วน IC CARD นั้นให้แตะบัตรที่บริเวณปุ่ม IC ที่อยู่ในวงกลมสีเหลือง (รูปซ้าย)  เพื่อสแกนออกจากชานชาลา และสามารถเช็คยอดเงินได้จากช่องสี่เหลี่ยมสีเหลือง(รูปขวา)

 วิธีขึ้นรถไฟ 

เมื่อผ่านเข้าช่องตรวจตั๋วมาแล้วก็ได้เวลาไปขึ้นรถไฟแล้ว แต่จะไปขึ้นที่ไหน ยืนรอยังไงล่ะ

เมื่อผ่านช่องตรวจตั๋วมาแล้ว อย่างแรกเลยก็ต้องดูป้ายบอร์ดอัพเดตตารางรถไฟที่อยู่เหนือศรีษะ ซึ่งป้ายบอร์ดนี้จะมีอยู่ที่บริเวณเหนือศรีษะหลังจากผ่านเข้าช่องตรวจตั๋วมาแล้ว โดยจะแสดงรายละเอียดตามภาพดังนี้

*ยกตัวอย่าง บริษัทรถไฟ JR (อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทรถไฟ)

หมายเลข 1 สายรถไฟ

หมายเลข 2 สถานที่หมาย 

หมายเลข 3 ชนิดรถไฟ (Type : 種別)

หมายเลข 4 แสดงเวลาที่ล่าช้า (Delay : 遅れ)

หมายเลข 5 เวลาออกตัว (Departure Time : 時刻)

หมายเลข 6 สถานีปลายทาง (Destination : 行先)

หมายเลข 7 หมายเลขรางรถไฟ หรือชานชาลารถไฟ (Track : のりば)

 การขึ้น-ลงรถไฟ 

ขณะขึ้น – ต่อแถวให้เรียบร้อย เรียงสองแถว เปิดทางให้คนลงจากรถให้หมดก่อน แล้วจึงขึ้นรถไฟ

ขณะลง – หากคนแน่นรถไฟควรเตรียมตัวให้พร้อมในการลงรถไฟ

สำหรับการยืนรอรถไฟนั้นจะต้องยืนรออยู่หลังเส้นสีเหลือง หรือทิ้งระยะห่างจากรถไฟเพื่อความปลอดภัย

สำหรับบางสถานีขนาดใหญ่ที่จะมีรถไฟหลากหลายชนิดมาลงจอดในรางรถไฟเดียวก็อาจแยกการยืนตามสัญลักษณ์สามเหลี่ยม หรือวงกลม ซึ่งสัญลักษณ์นี้จะระบุอยู่พร้อมกับป้ายบอร์ดแสดงเวลารถไฟภายในชานชาลาเลย เพราะฉะนั้นสังเกตุให้ดีแล้วยืนรอตามสัญลักษณ์นั้นได้เลย

*ยกตัวอย่าง บริษัทรถไฟ JR (อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทรถไฟ)

 รถไฟส่วนพิเศษ 

ที่นั่งภายในรถไฟนั้นนอกจากที่นั่งแบบธรรมดาสำหรับคนทั่วไปแล้ว ก็จะมีที่นั่งส่วนพิเศษแบบ Piority Seat สำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วย หรือผู้ที่บาดเจ็บทางร่างกาย โดยบริเวณที่นั่งเหล่านี้จะมีป้ายสัญลักษณ์ ตามกรอบสีเขียว แปะไว้ที่บริเวณกระจก และบริเวณพนักที่นั่ง เพราะฉะนั้นหากคุณไม่เข้าข่ายสิทธิพิเศษเหล่านี้ก็ควรหลีกเลี่ยงการนั่งที่นั่งในส่วนนี้

*ยกตัวอย่าง บริษัทรถไฟ JR (อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทรถไฟ)

นอกจากที่นั่งส่วน Piority Seat  แล้ว ในบางบริษัทรถไฟอาจมี “โบกี้สำหรับสตรี” เท่านั้นอยู่อีกด้วย โดยจะกำหนดช่วงระยะเวลาในการใช้โบกี้นั้นๆ เป็นโบกี้สำหรับสตรี ดังนั้นหากคุณผู้หญิงไม่ต้องการแนบชิดกับคุณผู้ชายก็สามารถเลือกนั่งในส่วนนี้เพื่อความสบายใจได้เลย แต่สำหรับคุณผู้ชายก็ต้องสังเกตุให้ดีก่อนขึ้นรถไฟด้วย หากขึ้นผิดไปทุกสายตาอาจจับจ้องมาที่คุณได้

 นั่งเกิน/ซื้อตั๋วผิด 

ในกรณีที่นั่งเกินราคาที่ตั๋วที่ซื้อไป นั่งเกินเงินที่เหลืออยู่ในบัตรเติมเงิน IC CARD หรือซื้อตั๋วผิดจำนวนเงินไม่ถึงยอดค่าเดินทาง ก็สามารถ “ปรับราคาตั๋ว” ได้ที่เครื่องปรับราคาตั๋วอัตโนมัติที่อยู่บริเวณก่อนออกจากช่องตรวจตั๋ว ได้เลย

โดยสามารถเลือกปรับราคาตั๋วแบบแผ่น(ปุ่มด้านซ้ายบนหน้าจอ) / เติมเงิน IC CARD (ปุ่มด้านขวาบนหน้าจอ) เพิ่มได้ หรืออาจใส่บัตรที่ต้องการปรับเข้าไปในเครื่องได้เลย

รายละเอียดของเครื่องปรับราคาตั๋ว

สี่เหลี่ยมสีแดง : ช่องใส่ตั๋ว หรือบัตร IC CARD

สี่เหลี่ยมสีเหลือง :ช่องรับตั๋ว

สี่เหลี่ยมสีเขียว : ช่องชำระเงิน และช่องรับเงินทอน ทั้งธนบัตรและเหรียญ

*ยกตัวอย่าง บริษัทรถไฟ JR (อาจมีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทรถไฟ)

 ตัวอย่างประโยคภาษาญี่ปุ่น 

  • ขอซื้อตั๋วไป (สถานที่ที่ต้องการไป) จำนวน … ใบ ครับ/ค่ะ

พูดว่า : “(สถานที่ที่ต้องการไป) มา-เดะ-โนะ TICKET โอะ (จำนวนใบ)มัย คุ-ดา-ซัย”

ภาษาญี่ปุ่น : (สถานที่ที่ต้องการไป) までのチケットを (จำนวนใบ) 枚ください。

  • รถไฟคันนี้ไป (สถานที่ที่ต้องการไป) ไหม ครับ/ค่ะ ?

พูดว่า “โค-โนะ-เด็น-ชะ-วะ (สถานที่ที่ต้องการไป) เอะ-อิ-คิ-มัส-ก้ะ ?”

ภาษาญี่ปุ่น :この電車は (สถานที่ที่ต้องการไป) へ行きますか?

  • รถไฟไป (สถานที่ที่ต้องการไป) ออกตัวจากรางรถไฟไหน ครับ/ค่ะ ?

พูดว่า : “(สถานที่ที่ต้องการไป) นิ-อิ-คุ-เด็น-ชะ-โนะ-โน-ริ-บะ-วะ-โดะ-โคะ-เดส-ก้ะ ?”

ภาษาญี่ปุ่น : (สถานที่ที่ต้องการไป) に行く電車の乗り場はどこですか?

*สถานที่ที่ต้องการไป เช่น สถานี ชื่อสถานที่ หรือชื่อเมือง

และก็จบกันไปแล้วกับ “ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน!” ซึ่งเราได้พูดถึงกันตั้งแต่ชนิดของรถไฟ การซื้อตั๋วรถไฟ ไปจนถึงการขึ้นรถไฟ และยกตัวอย่างประโยคที่เป็นประโยชน์อีกเล็กๆ น้อยกันไปแล้ว หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยให้กับเพื่อนๆ ที่กำลังกังวลเกี่ยวกับการขึ้นรถไฟในประเทศญี่ปุ่น หากเกิดปัญหาอะไรระหว่างการขึ้นรถไฟในประเทศญี่ปุ่นก็ลองเปิด “ขึ้นรถไฟในญี่ปุ่นแบบนักท่องเที่ยวระดับเซียน!” มาอ่านกันดูได้เลย ในตอนหน้าจะเป็นเรื่องอะไรฝากติดตามด้วยนะคะ